Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Oct 23, 2010

faithful.believe.credulous-ศรัทธา ความเชื่อ และงมงาย


พุดถึงความเชื่อ ศรัทธา งมงาย ทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งที่เคยไปนั่งเรียนภาษาต่างด้าวร่วมกับชาวต่างชาติหลากภาษา คุณครูยกหัวข้อขึ้นมาสนทนาเกี่ยวกับตามเชื่อ และศาสนา ครูหันมาถามเราว่า ศาสนาของยู (หมายถึงพุทธ) เชื่อว่ามีชาติหน้าใช่ไหม เราตอบว่าใช่ แทนที่เธอจะถามถึงเหตุผล ทำไมเราเชื่อ อย่างเช่นที่เธอถามคนอื่นๆ เธอกลับสบัดหน้าพร้อมพูดเสียงสบัดกับนักเรียนต่างด้าวคนอื่น ๆ ว่า เฮอะ เธอคนนี้เชื่อว่ามีชาติหน้า ซึ่งแตกต่างจากศาสนา...

หากมองภาพรวมจะเข้าใจไม่ยากว่าทำไม ชาวต่างชาติจึงเข้าใจว่าชาวพุทธงมงาย และศรัทธาผิด ๆ เพราะภาพที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ (ที่ไม่ได้ศีกษาและเข้าใจศาสนาพุทธอย่างถูกต้อง) เห็นชาวพุทธ และวัดไทยในต่างแดน ในลักษณะนั้น และบ้างก็เข้าใจผิดว่าพุทธและฮินดูเหมือนกัน เพราะด้วยว่าเห็นพุทธกราบไหว้ นับถือเทพเจ้า ฯลฯ ประมาณนั้น)

ความจริง ศรัทธา ต่างจาก งมงาย และมีนัยต่างกันมาก ศาสนาพุทธสอนให้เราศรัทธาด้วยปัญญา  คุณดังตฤณ  ได้วิสัชนาเรื่อง ความแตกต่างระหว่างศรัทธากับงมงาย และเราจะแยกได้อย่างไร ไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ศรัทธาที่ปราศจากการพิจารณาประกอบ โน้มเอียงที่จะเป็นความงมงายครับ 
ส่วนศรัทธาที่มีการพิจารณาแล้ว 
(หรือให้ดีกว่านั้นคือเห็นตามจริงจากประสบการณ์แล้ว) 
ว่าสิ่งที่ศรัทธามีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร

เมื่อใดพิจารณาแล้วว่าสิ่งที่ศรัทธา เช่นพระพุทธเจ้าและคำสอนของท่าน มีแต่คุณ
คือเอื้อให้ดำรงตนอย่างเป็นสุข มีชีวิตโดยไม่ต้องหวาดกลัว
กับทั้งไม่มีโทษ คือไม่ต้องเอาความเชื่อทางศาสนาไปเป็นข้ออ้างเบียดเบียนใคร
มีชีวิตโดยไม่ต้องเป็นที่หวาดผวาของใครๆ
พอตรึกตรองรอบคอบแล้วจึงยึดพระพุทธเจ้ากับคำสอนของท่านเป็นสรณะ
อย่างนั้นเรียกว่าศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา

ความเชื่อในช่วงเริ่มต้นเพียงน้อยนิดนั้น
คือศรัทธาที่เปรียบเหมือนเปลวไฟดวงน้อยบนหัวไม้ขีด
แต่ก็อาจกลายเป็นชนวนความสว่างที่ยั่งยืน
ขอเพียงนำเปลวไฟน้อยไปประดิษฐานให้ถูกที่
เช่นไส้เทียนใหญ่คือปัญญาอันตั้งลำ มั่นคง สติปัญญา ความมีเหตุผล
และประสบการณ์ประจักษ์แจ่มแจ้งเท่านั้น
จะรักษาศรัทธาไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง กระทั่งตัวตายไปพร้อมกับศรัทธา
เปรียบเหมือนคนตาบอดที่ผ่าตัดได้ดวงตาแล้ว
ลืมตาขึ้นเห็นสีสันและความจริงทั้งหลายแล้ว
ก็ย่อมไม่มีคนตาบอดและคนตาดีที่ไหนมาหลอกได้ว่า
โลกและสีสันความจริงเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างที่กำลังเห็น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของศรัทธาในศาสนาแล้ว
เมื่อยังไปไม่ถึงจุดที่ ‘ได้ดวงตาเห็นความจริง’
ก็อาจมีหลายสิ่งที่คลุมเครือก้ำกึ่งกันอยู่
บางครั้งแม้ศรัทธาอย่างมีปัญญาประกอบแล้ว ก็เหมือนจำต้องงมงายเชื่อไว้ก่อน
ยกตัวอย่างเช่นศาสนาพุทธบอกว่ากรรมวิบากมีจริง ทุกสิ่งมีเหตุผลที่มาที่ไปเสมอ
เราส่งใจพิจารณาตามแล้วก็คล้อยตามได้
โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเหมือนคนโง่ที่ใครพูดมาก็เชื่อหมด
แต่กรรมวิบากก็เป็นเรื่องอจินไตย
ถ้าขาดสมาธิผ่องแผ้ว ขาดตาทิพย์ทะลุมิติกรรมวิบาก
เราก็ไม่อาจพิสูจน์จะแจ้งด้วยจิตตนเองอยู่ดี

ตรงนี้แหละ ตรงที่ตระหนักว่ายังต้องฟังผู้อื่นพูด ก็ต้องอาศัยศิลปะ
อาศัยหลักการแยกแยะว่าเรารับฟังอย่างงมงาย
หรือรับฟังด้วยศรัทธาที่ประกอบปัญญา

เอาง่ายๆอย่างนี้เลยครับ หากศรัทธาแล้วเราถูกปล้นปัญญา
ปล้นเหตุผล ปล้นความเป็นตัวเราไปหมด
เขาใช้วิธีบีบคอ บอกอะไรเราต้องเชื่อหมด ขู่อะไรเราต้องหงอหมด
อย่างนั้นเขาวางตัวเป็นผู้ทำเราให้เชื่ออย่างงมงายแล้ว

แต่หากศรัทธาแล้วเรายิ่งมีปัญญาคิดอ่านอะไรทะลุปรุโปร่ง
อ่านปัญหาขาด แก้ข้อติดขัดได้หมด
กับทั้งยังคงเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพา
เป็นผู้ได้เหตุผลที่ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นเรื่อยๆทั้งทางใจและทางกาย
อย่างนี้เขาส่งเสริมให้เรามีศรัทธาในแบบที่เป็นขาตั้งให้ปัญญาแข็งแรง ยั่งยืน
ยิ่งฐานศรัทธากว้างขวางมั่นคงเพียงใด ปัญญาก็ยิ่งต่อยอดขึ้นสูงได้มากขึ้นเพียงนั้น

ทั้งหมดที่กล่าวก็กล่าวตามเนื้อผ้านะครับ
ไม่ใช่ข้อตัดสินแบบจำเพาะเจาะจงลงไปที่ศาสนาไหนหรือคนกลุ่มใด
พระพุทธองค์เคยให้หลักการไว้ ว่าจะเชื่อนั้นอย่าเชื่อเพราะเหตุผลอื่นใด
ขอให้คำนึงเพียงประการเดียวว่าเชื่อแล้วเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
มีผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์กับตนเองและผู้อื่น
นี่แหละครับจึงจะกล่าวได้เต็มปากว่าเรามีศรัทธาแบบพุทธ"

 ที่มา http://www.dharmamag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=331&Itemid=63

No comments:

Post a Comment