Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Aug 15, 2010

Anangana Sutta-without blemish ผู้ไม่มีกิเลส



เมื่อไรเจ้า สมุทัย วายร้ายตัวดี มีพิษสงมากหลายตัวนี้เข้ามาจับจองพื้นที่ในจิตเมื่อไร ไอ้ที่บอกว่ามีสติและมั่นคงนักหนานั้น ก็มีอันซวนเซถูกสมุทัยต้อนเข้ามุมจนหมอบราบคาบ คางเหลืองได้เหมือนกัน  ไหนหล่ะ ที่ว่าเป็นคนดี มีจิตเมตตา ไม่พยาบาท คาดแค้นไง ที่แท้ก็พวกเดียวกับฉันนั่นแหล่ะ ฮี้โธ่ นึกว่าแน่ เมื่อเจ้าสมุทัย ต่อยหมัดหนักเข้าคาง แถมยิ้มเยาะ พร้อมหย่อนคำเย้ยแล้วจากไปอย่างผู้ชนะ ทำเอาเจ้าจิตสวย (ที่หลงคิดว่าตัวเอง จิตดี ไม่มีที่ติ) ลงไปนอนคางเหลือง หายใจรวยริน เห็นความจริงอีกครั้ง (นับไม่ถ้วน) ว่าที่หลงตัวเองอยู่นาน เป็นคนดี ตีบทคนใจบุญแตกนั้น ยังสอบไม่ผ่านแถมต้องช้ำใจที่ เมื่อเห็นอาสวะหนึบหนารอบจิตอีกหลายตัน...ไม่เป็นไรนะ ลุกขึ้นสู้ใหม่ หมั่นบริหารจิตไป  สักวันคงไม่ต้องระทมทุกข์กับ กิเลส ที่นับวันจะเห็นทับทวีคูณ จนสติกระเจิดกระเจิงเมื่อเจ้าสมุทัยเข้ามาปลุกปั่น..."

 
หนทางขัดเอาอาสวะให้หมดจากจิตได้  พระผู้รู้ สาวกของพระบรมครูท่านบอกไว้ว่า มีอยู่ทางเดียว  คือหมั่นบริหารจิต ศึกษาและปฎิบัติตามคำสอนของพระบรมครู...เท่านั้น...



ตามที่เคยเล่าไว้เกี่ยวกับมนุษย์ 4 จำพวก พระพุทธเจ้า แยกดีแยกเลว อยู่ที่รู้หรือไม่รู้  กิเลสเกิดแล้วรู้ทันตรงนั้นดี  อยู่ที่รู้ทันจิต มีอยู่ 4 พวก นั้น    หลายคนที่ยังไม่รู้ และยังสงสัย (รวมทั้งผู้เขียน) ว่า คนมีกิเลสเหมือนกันทำไม พวกหนี่งกลับบอกว่าดี และอีกพวกหนึ่งกลับบอกว่าใช้ไม่ได้

·                     พวกหนึ่ง จิตเป็นกุศลรู้ว่าเป็นกุศลนั้นดีเลิศ (ไม่มีกิเลสและรู้ว่าตนไม่มีกิเลส)
·                     พวกหนึ่ง จิตเป็นกุศลแล้วไม่รู้ว่าเป็นกุศล ใช้ไม่ได้ (ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลส)
·                     พวกหนึ่ง จิตเป็นอกุศล รู้ว่ามีอกุศล ท่านบอกว่าดี (มีกิเลส และรู้ว่าตนมีกิเลส)
·                     พวกหนึ่ง จิตอกุศลเกิดแล้วไม่รู้ว่า อกุศลเกิด นี้ใช้ไม่ได้ (มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส)

วันหนึ่ง ก็ได้คำเฉลย เมื่ออ่านไปเจอในหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้วของอาจาย์ วศิน อินทสระ  จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าเป็นประโยชน์ และคลายความความสงสัย (โดยเฉพาะจิตที่ชอบคิดค้นไม่หยุด) เห็นอัศจรรย์คำสอนของพระพุทธองค์ ว่าแจ่มแจ้งเพียงใด

ว่าที่จริง ความสงสัยนี้ไม่ได้เพียงแต่เฉพาะเราที่กำลังเดินตามรอยพระบาทพระพุทธองค์เท่านั้น หากแต่พระมหาโมคคัลลานะ ได้สงสัยและถามพระสารีบุตร ไว้แต่กาลที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
ณ เชตวัน เมื่อครั้งพระสารีบุตรได้แสดงธรรมข้อนี้แก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

พระสารีบุตรได้อธิบายว่า  
ที่เป็นดังนั้นเพราะ
คนที่มีกิเลสแต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส ย่อมเป็นเหตุให้กิเลสเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ (เหมือนตนเป็นโรคแต่ไม่รู้ว่าตนเป็นโรค)

ส่วนคนที่ไม่มีกิเลสแต่ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสนั้นย่อมทำให้กิเลสกำเริบขึ้นได้ ทำให้ราคะ โทสะ โมหะ กำเริบจขึ้นได้ (เหมือนคนหายโรคแล้วแต่ไม่รู้ว่าหายแล้ว เป็นคนหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง)

ส่วนคนมีกิเลส รู้ว่าตนมีกิเลส ย่อมมีโอกาสทำลายกิเลสให้หมดไป คนที่ไม่มีกิเลส รู้่ว่าตนไม่มีกิเลส ชื่อว่ารู้ตามความเป็นจริง

พระสารีบุตรได้แสดงตัวอย่างกิเลสที่เรียกว่า อังคณะ  คือกิเลสชนิดต่าง ๆ เกี่ยวกับโลภ โกรธ หลง และความปราถนาต่าง ๆ อันไม่เป็นธรรม เช่น ภิกษุปราถนาให้ตนได้ลาภได้ความนิยมนับถือแต่เพียงผู้เดียว  ผู้อื่นอย่าได้ เป็นต้น รวมเรียกว่า อิจฉาวจร แปลว่า ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในความปราถนาต่าง ๆ ไม่มีสิ้นสุด  ถ้ายังละอิจฉาวจรเหล่านี้ไม่ได้  แม้เธอจะอยู่ป่า นุ่งห่มผ้าสีเศร้าหมองแสดงตนเป็นผู้เคร่งครัด เป็นต้น  เพื่อนภิกษุด้วยกันก็หาเคารพนับถือไม่  ส่วนภิกษุผู้ละบาปอกุศลต่าง ๆ ได้ แม้จะอยู่เสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ คือฉันอาหาร ตามที่ชาวบ้านนิมนต์ไปตามบ้าน หรือมาถวายที่วัด  ใช้จีวรที่ชาวบ้านถวาย  ซึ่งไม่ใช่บังสุกุลจีวรก็ตาม  เพื่อนภิกษุด้วยกันก็เคารพนับถือ

ภิกษุผู้ยังละบาปอกุศลอันเป็นกิเลสอยู่ในใจไม่ได้  แม้จะแสดงตนว่าเคร่งครัด น่าเลื่อมใส  ก็เป็นแค่เพียงภายนอกเท่านั้น  ส่วนภายในเต็มไปด้วยความเศร้าหมองเหมือนถาดสัมฤทธิ์ที่สวยงามภายนอก  แต่ภายในบรรจุซากศพไว้ พึงรังเกียจ น่าสะอิดสะเอียน

ส่วนภิกษุผู้ละอิจฉาวจรอันเป็นบาปอกุศลได้แล้ว  แม้จะมิได้แสดงตนว่าเคร่งครัด  แต่ภายในบริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลสอันทำให้เศร้าหมอง  เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์หรือถาดสัมฤิทธิ์ที่สวยงามทั้งภายนอกและภายใน  มีโภชนะอันปราณีตน่าบริโภค

พระพุทธองค์ตรัสว่า  ผู้พรั่งพร้อมด้วยอิจฉาและโลภะจะเป็นสมณะได้อย่างไร เป็นได้แต่เพียงบุคคลประเภทขี้ม้า  คือเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก  ภายในรุงรังสกปรก เพราะฉะนั้นจึงควรระวังภายในให้ดี  ถ้าสวยทั้งภายนอกและดีทั้งภายในก็ดียิ่งขึ้น

ที่มา:  พระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว หน้า ...อาจารย์วศิน  อินทสระ

No comments:

Post a Comment