Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Sep 24, 2010

Dhamma..Dhammada ดับร้อน ถอนทุกข์-ศาสตร์แห่งการศึกษา ซึ่งต้องพิสูจน์



บ่อยครั้ง ที่เราปฎิเสธ และหลีกเลี่ยง ที่จะได้ยิน และได้เห็น ในสิ่งที่ไม่ตรงใจเรา ไม่ถูกใจเรา  หรืออาจทำให้เราเสียใจ ด้วยเพราะว่าธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีกิเลส (รวมทั้งผู้เขียน) อยากได้สุข ไม่อยากเอาทุกข์

พระพุทธองค์สอนให้เรารู้จักทุกข์ เรียนรู้เพื่อเห็นทาง วางและดับทุกข์นั้น...ในที่สุด 
เราชาวพุทธ นับว่ามีบุญกว่าใครเพื่อนที่เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ได้รับคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ถ่ายทอดผ่าน ครู บา อาจารย์ ตลอดจนปราชญ์ผู้รู้ และสาวกที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อีกทั้งคำสอนของพระพุทธองค์ได้มีบันทึกไว้ให้ได้ศึกษากันอย่างกว้างขวางในคัมภัร์ี่เรียกว่า "พระไตรปิฎก" 


นอกจากนั้นชาวพุทธยังสามารถศึกษาหาอ่านได้จากหนังสือ ที่ครูบาอาจารย์ และปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายได้ถ่ายทอดด้วยภาษาง่าย ๆ อ่านง่าย เข้าใจง่าย มากมาย อาทิเช่น 
- หนังสือ “สมเด็จพระสังฆราชา”  รวมพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก,
จัดพิมพ์โดย ธรรมสถา   
- หนังสือ “พระไตรปิฎก ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว”  เรียบเรียงโดย อาจารย์วศิน  อินทสระ

เป็นต้น...

นอกจากศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ในตำรา ถ่ายทอดผ่านครูบาอาจารย์แล้ว
สำคัญเหนืออื่นใดคือ เราต้องลงมือปฎิบัติภาวนา (สัมมาทิฐิ สัมมาปฎิบัติ) ด้วยตัวเราเอง
เมื่อใดที่เราปฎิบัติเป็นไปเพื่อการดับทุกข์  (ไม่ใช่เพื่อคำเยินยอ ลาภ สักการะ ฯลฯ)
เราจะประจักษ์ด้วยตัวเราเองว่า คำสอนของพระพุทธองค์เป็นจริง องค์พระศาสดามีจริง และสงฆ์ สาวก ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ก็ยังมีอยู่จริง

เมื่อนั้นพุทธบริษัทสี่ ผู้เดินตามรอยพระพุทธองค์
ศรัทธาต่อคำสอนพระพุทธองค์ ย่อมไม่คลอนแคลน
เบี่ยงเบนไปตามกระแสภายนอก ทั้งบวกและลบ ที่เข้ามากระทบใจ
ตรงข้ามกลับได้ประโยนชน์จากเหตุการณ์ หรือสิ่งที่มากระทบใจเหล่านั้น
เพื่อเป็นเครื่องเร้าให้เพียรภาวนา...ได้อย่างดีเยี่ยม 

เมื่อใดที่เห็นว่าความร้อนได้เกิดขึ้นในใจ  
(เพราะสิ่งที่เข้ามากระทบไม่ถูกใจ บวกกับการปรุงแต่งในจิตใจเรา)
ดับไปเพราะการระลึกรู้ สติเกิด  ไม่ถูกความร้อนหรือกิเลสในใจนั้นใช้งาน
ก็พอจะเรียกว่า เราได้เจริญสติ ...อยู่เนือง ๆ บ้าง
สติระลึกรู้เกิดขึ้น จิตสัมผัสถึงกระแสแห่งความเย็น สงบภายในใจ
หลังความร้อนในใจที่ดับพลันนั้น

หากไม่ใช่เพราะ ธรรมะ ธรรมดาของพระพุทธองค์ เป็นไปเพื่อความดับร้อน ถอนทุกข์ (ในใจ) แล้ว คงจะเรียกเป็นอย่างอื่น...ไปไม่ได้  

อย่างนี้คงพอจะเรียกได้ว่า เรา...ได้เจริญสัมมาสติในหนทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้แนะไว้
คงพอนับได้ว่า เรา...เป็นชาวพุทธโดยแท้...ที่ใจ
แท้ ด้วยการศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ให้เข้าใจ และแจ่มแจ้ง
แท้ ด้วยการลงมือปฎิบัติ (ภาวนา) ด้วยตนเอง เป็นไปเพื่อความดับทุกข์นั้น
ตามคำเชื้อเชิญให้พิสูจน์ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
แท้ด้วยการพิจารณา เหตุ ปัจจัย อย่างแยบคายไว้ในใจ

            ส่วนเรา (รวมทั้งผู้เขียน) จะดับร้อนได้เร็วหรือช้า จนกระทั้งถอนทุกข์ได้หมดหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรในการปฏิบัติภาวนา ของเราเฉพาะตนเท่านั้น...ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย   

การลงมือปฏิบัติภาวนา (สัมมาปฏิบัติ) หรือเจริญสตินี้ ย่อมสอดคล้องกับพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ที่กำลังฮิตติดปากนักปฎิบัติธรรมทั้งหลายในเวลานี้ (ที่ผู้เขียนได้ยินมา) คือ “กาลามสูตร” (ว่าด้วยหลักของความเชื่อ พิสูจน์ความสงสัย ๑๐ ประการ)  

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้ใน พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ดังนี้

กาลามสูตร สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาว   กาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก      ๑๐ ข้อ คือ
      
     อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา,
           
ด้วยการถือสืบๆ กันมา,
           
ด้วยการเล่าลือ,
           
ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์,
           
ด้วยตรรก,
           
ด้วยการอนุมาน,
           
ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล,
           
เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน,
           
เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ,
           
เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา;
       
ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น
       
เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.

แล้วอย่างนี้ จะไม่เรียกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการศึกษา เป็นวิทยาศาสตร์ เนื่องด้วยคำสอนของพระพุทธองค์ทนต่อการพิสูจน์ อยู่เสมอ...ได้อย่างไร

No comments:

Post a Comment