Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Apr 4, 2012

อะควาเรียม ความงามและการจองจำตลอดชีวิต โดย วินิจ รังผึ้ง



บทความดี ๆ อ่านแล้วทำให้นึกถึงกิเลสของมนุษย์ ที่น่ากลัวกว่าสิ่งใด ๆ หากมนุษน์ลดความเห็นแก่ตัว ลดความอยากเพื่อตอบสนองกิเลส อยู่กับธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ มนุษย์ก็คงไม่ถูกธรรมชาติทำร้าย อย่างทุกวันนี้...

ที่มา: http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000042254

ปัจจุบันเมืองไทยของเราน่าจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอะควาเรียมหรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำมากที่สุดในอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคหรือในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะระยะหลังนี้มีการสร้างสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มในจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลหรือในจังหวัดที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเป็นดอยห่างไกลจากทะเลและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทะเลแม้นแต่น้อยก็ยังอุตส่าห์ลงทุนสร้างอะควาเรียมสัตว์ทะเลขึ้นมาบนภูเขา และยังมีอีกมากมายหลายพื้นที่หลายจังหวัดที่สนใจหรือกำลังมีโครงการจะสร้างสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์ทะเลขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง


หากดูเผินๆก็น่าจะรู้สึกดีใจที่เสมือนว่าเมืองไทยกำลังให้ความสนใจกับเรื่องราวของสัตว์น้ำและชีวิตสัตว์ทะเล แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจมิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะโครงการสร้างอะควาเรียมส่วนใหญ่ที่สร้างๆ ตามกันขึ้นมานั้น ล้วนมองไปที่ตัวเงินและผลกำไรเกือบทั้งสิ้น มิได้มุ่งประโยชน์เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับการศึกษาค้นคว้าของเยาวชน หรือมุ่งผลทางด้านการศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง และอะควาเรียมที่สร้างขึ้นมาหลายแห่งก็ยังขาดผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษา ขาดมาตรฐานในการบริหารจัดการตามหลักวิชาการที่ควรจะเป็น ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดมีตามมาอย่างมากมาย


อะควาเรี่ยมหรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งอาจจะแยกเป็นสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำเค็ม แต่เดิมนั้นในเมืองไทยของเราก็จะมีอยู่เฉพาะในส่วนที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐเช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ชลบุรี ศูนย์ชีวะวิทยาทางทะเลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นของกรมประมง หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต่อมาก็เริ่มมีการจัดตั้งอะควาเรียมของเอกชนขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ และเริ่มที่จะมีการจัดสร้างอะควาเรี่ยมขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานและองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เช่นที่บึงฉวาก สุพรรณบุรี บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์ พัทยา ชลบุรี บ้านเพ ระยอง คุ้งกระเบน จันทบุรี หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ ศรีสะเกษ หนองคาย เรียกว่ามีกันแทบทุกภาคทั่วเมืองไทยเลยทีเดียว


การลงทุนทำอะควาเรี่ยมนั้นมีตั้งแต่การลงทุนระดับพันล้าน ลงมาจนถึงระดับร้อย และหลายสิบล้านบาท ซึ่งการสร้างอะควาเรี่ยมขนาดใหญ่นั้นจำต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ต้องใช้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การบริหารจัดการและการดูแลรักษาสัตว์น้ำสัตว์ทะเลให้สามารถจะมีชีวิตอยู่รอดได้ยาวนานที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อหาสัตว์น้ำเข้ามาทดแทนกันบ่อย ๆ ซึ่งนั่นล้วนเป็นปัญหามากมายที่หน่วยงานซึ่งคิดจะทำอะควาเรียมจะต้องคิดให้จงหนัก และปัญหาที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนก็ปัญหาอื่นๆก็คือการทำตลาด เพื่อให้มีคนสนใจมาซื้อบัตรเข้าชม


ที่ผ่านมาเรามักจะมองเฉพาะแต่ด้านความสำเร็จของอะควาเรียมดัง ๆ ในต่างประเทศเช่นในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อเมริกา ที่มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางไปชมเป็นจำนวนมากมายในแต่ละปี แต่เรากลับไม่ได้มองหรือศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จของอะควาเรี่ยมดังๆเหล่านั้นเกิดขึ้นจากอะไร เช่นอาจจะเกิดจากความยิ่งใหญ่ได้มาตรฐานระดับโลก และตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม หรือบางแห่งก็มีปลาและสัตว์ทะเลที่น่าสนใจมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนต้องไปดู ในขณะที่อะควาเรี่ยมของบางประเทศอย่างเช่นในสิงคโปร์นั้น ปัจจัยที่ทำให้มีผู้คนเข้าไปเที่ยวมากมายในแต่ละปีอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่ไปสิงคโปร์นั้นไม่รู้จะไปเที่ยวไหน ก็จำเป็นต้องไปเที่ยวไปดูตามโปรแกรมภาคบังคับที่มีอยู่ไม่กี่ที่ไม่กี่รายการเท่านั้น เพราะเมื่อก่อนนั้นไปสิงคโปร์ถ้าไม่ไปเที่ยว 2 แห่งนี้ก็ไม่รู้จะไปไหนนั่นเอง


การมองความสำเร็จจากอะควาเรี่ยมในสิงคโปร์ จากไนท์ซาฟารีในสิงคโปร์แล้วก็นำมาเลียนแบบสร้างเชียงใหม่ซูอะควาเรี่ยม เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีขึ้นแล้วก็ล้มเหลว จนทุกวันนี้ก็ยังขาดทุนไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะแทบจะไม่มีคนเข้าไปดู แต่ละเดือนนั้นมีตัวเลขการขาดทุนนับล้านบาท สาเหตุแห่งความล้มเหลวเพราะไม่เข้าใจรากเหง้าของตัวเองอย่างถ่องแท้ว่าเชียงใหม่ของเรานั้นมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่หลากหลายกว่าสิงคโปร์มากมายนัก เรามีธรรมชาติป่าเขาแดนดอยที่สวยงาม มีชนเผ่าที่เต็มไปด้วยสีสันของชีวิต มีวิถีวัฒนธรรมล้านนาที่งดงามมีเสน่ห์ มีวัดวาอารามโบราณสถานเก่าแก่นับร้อยนับพันปีอันงดงามทรงคุณค่าทางศิลปะ มีอาหารการกินและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้เที่ยวกันได้ทั้งกลางวันกลางคืน เย็นย่ำค่ำมืดก็มีถนนคนเดิน ถนนวัฒนธรรมให้ท่องให้เที่ยวกันได้ไม่ซ้ำซากจำเจ อยู่เชียงใหม่เที่ยวกันได้เป็นสัปดาห์ก็ยังไม่รู้จักเบื่อ เชียงใหม่จึงไม่จำเป็นต้องกระวนกระวายไปสร้างอะควาเรียม หรือใช้เงินมากมายมหาศาลไปทุ่มเทเนรมิตสวนสัตว์กลางคืนให้เป็นการทรมานสัตว์ จนกลายเป็นสวนสัตว์ร้างอันน่าวังเวงยามค่ำคืนไปเสียเปล่า ๆ


การสร้างอะควาเรี่ยมขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลแก่เยาวชนและผู้สนใจนั้นนับเป็นสิ่งดี แต่ก็ควรจะมีความเหมาะสม ความพอดี และมีมาตรฐาน เช่นหากเป็นอะควาเรี่ยมสัตว์น้ำเค็มก็ควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล เพื่อจะสามารถนำน้ำทะเลจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ต้องใช้น้ำทะเลเทียม น้ำผสมสารเคมีที่ต้องมีต้นทุนสูงและไม่เป็นผลดีต่อสัตว์ทะเลที่เลี้ยง และควรจะต้องมีหน่วยงานเชี่ยวชาญดูแลรับผิดชอบเช่นมหาวิทยาลัยที่มีคณะศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือคณะประมงเป็นผู้จัดตั้งหรือดูแล และควรมีการจำกัดจำนวนกันได้แล้ว เพราะที่มีอยู่ก็มากมายเพียงพอสำหรับผู้สนใจศึกษาค้นคว้าอยู่แล้ว การจะใช้เงินจากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมาลงทุนนั้น หากคำนวณกันจริงๆแล้วก็ยากจะคุ้มทุน เพราะแม้นแต่อะควาเรี่ยมของเอกชนกลางกรุงที่ทำตลาดกันทุกวิถีทางและเก็บค่าเข้าชมในราคาสูง ทุกวันนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ดังนั้นเราจะยังคงปล่อยให้มีการนำเงินภาษีของประชาชนและงบประมาณพัฒนาท้องถิ่นจำนวนมหาศาลไปสร้างสิ่งที่ไม่คุ้มค่าตามๆกันไปอีกหรือ


สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำยิ่งมีขนาดใหญ่เพียงใด ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีการนำปลาสวยงามและสัตว์ทะเลเข้ามาจัดแสดงเป็นจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งกว่า 95 เปอร์เซ็นต์เป็นการสั่งจับมาจากท้องทะเลทั้งนั้น ลองนึกดูว่าอะควาเรียมใหญ่บางแห่งโฆษณาว่ามีสัตว์ทะเลมาจัดแสดงกว่าหมื่นตัว มากมายหลากหลายกว่า 400 สายพันธุ์ ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้นจริงก็เป็นเกือบครึ่งของชนิดพันธุ์ปลาที่มีอยู่ในท้องทะเลไทยเลยทีเดียว ปลาและสัตว์ทะเลเหล่านี้หากถูกจับมาส่งเข้าอะควาเรี่ยมแล้วก็เหมือนกับนักโทษผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุมมาคุมขังตลอดชีวิต เพราะไม่มีโอกาสที่จะกลับคืนไปสู่โลกกว้างแห่งท้องทะเลมหาสมุทรอีกแล้วตราบจนชั่วชีวิต ไม่มีโอกาสได้ขยายเผยแพร่เผ่าพันธุ์ชีวิตเล็ก ๆ รุ่นต่อไป ช่างน่าสงสารชีวิตบริสุทธิ์เหล่านี้จริง ๆ การเสียชีวิตของปลาในอะควาเรียมอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ในเชิงธุรกิจ เพราะสามารถจะสั่งซื้อจากท้องทะเลมาทดแทนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ใต้ท้องทะเลไทยแทบจะหาปลาการ์ตูนและปลาสวยงามอื่นๆ ที่ในอดีตมีอยู่มากมายได้ยากขึ้นทุกที เนื่องจากถูกจับส่งเข้าอะควาเรี่ยมที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ซึ่งหากอะควาเรียมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง อีกหน่อยทะเลไทยก็คงจะกลายเป็นทะเลร้าง แล้ววันนั้นอะควาเรียมทั้งหลายจะไปสั่งปลามาจากที่ไหนมาแสดงให้ดูกันอีก

ที่มา: http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000042254

No comments:

Post a Comment