Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Feb 18, 2011

Virtues Of Man - Five Precepts ศีลห้าทำให้ร่ำรวย ตอน ๒



ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านได้แสดงไว้ว่า


[238] ศีล 5 หรือ เบญจศีล (ความประพฤติชอบทางกายและวาจา, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน — the Five Precepts; rules of morality)


1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากการปลงชีวิต, เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน — to abstain from killing)
2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน — to abstain from stealing)
3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน — to abstain from sexual misconduct)
4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง — to abstain from false speech)
5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ — to abstain from intoxicants causing heedlessness)


ศีล 5 ข้อนี้ ในบาลีชั้นเดิมส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท 5 (ข้อปฏิบัติในการฝึกตน — training rules) บ้าง ธรรม 5 บ้าง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล คือเป็นเบื้องต้นที่จัดว่าเป็นผู้มีศีล (virtuous) คำว่า เบญจศีล ที่มาในพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอปทาน และพุทธวงส์ ต่อมาในสมัยหลัง มีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นว่าเป็น นิจศีล (ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นประจำ — virtues to be observed uninterruptedly) บ้าง ว่าเป็น มนุษยธรรม (ธรรมของมนุษย์หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ — virtues of man) บ้าง

อานิสงฆ์ ผลแห่งการรักษาเบญจศีล หรือศีล ๕
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ สมาทานนิยเถราปทานที่ ๔ (๒๔)


พระเบญจศีลสมาทานนิยเถระได้กล่าวพระคาถา (เล่าเรื่องของท่าน) ไว้ว่า


กาลหนึ่ง ท่านเคยเกิดเป็นคนรับจ้างในนครจันทวดี ยากจน รับจ้างทำงานให้ผู้อื่นแทบไม่มีเวลา คิดอยากบวชก็ไม่ได้บวช ท่านจึงคิดที่จะตั้งใจรักษาศีล
ท่านจึงเข้าไปพบพระภิกษุชื่อนิสภะ ผู้เป็นสาวกของพระมุนีพระนามว่า อโนมทัสสี ขอสมาทานศีลห้า
ตลอดอายุขัยของท่านแสนปี พระมหาเถระท่านรักษาศีลอย่างบริบูรณ์ เมือใกล้ตาย เหล่าเทวดามาเชื้้อเชิญท่านด้วยรถเทียมม้าพันหนึ่ง ท่านได้ระลึกถึงศีลอันบริสุทธิ์ของท่านก่อนสิ้นใจ ท่านได้ไปเสวยสุขในภพดาวดึงส์ เป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐ ครั้ง แวดล้อมด้วยเหล่าเทวดานางฟ้า เสวยสุขอันเป็นทิพย์ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถึง ๓๗ ครั้ง เป็นพระเจ้าประทศราชอันไพบูลย์นับครั้งไม่ถ้วน
จากนั้นท่านได้มาเกิดในสกุลพราหมณ์อันมั่งคั่ง ในนครไพสาลี ในศาสนาพระชินเจ้าอันรุ่งเรือง ใกล้เข้าพรรษา บิดามารดาของท่านได้รับสิกขาบท ๕ ท่านได้นั่งฟังศีลนั้นอยู่ด้วย บนอาสนะอันเดียว ท่านระลึกถึงศีลของท่านได้ในชาติก่อนๆ ว่าท่านเคยรักษาศีลให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์แย่างดี จึงได้บรรลุอรหันต์ เพียงอายุท่านได้ ๕ ปี เท่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงเห็นคุณของพระเถระด้วยทิพจักษุ พระองค์ทรงประทานอุปสมบทให้พระเถระ พระเถระได้ประกาศคุณหรืออานิสงฆ์แห่งการรักษาศีลไว้ว่า ท่านไม่ตกไปในวินิบาตเลยชัวกัลป์ ไปเคยตกไปในทุติยภูมิ แม้ท่านเป็นเพียงคนรับจ้างยากจน แต่ด้วยเหตุที่ท่านรักษาศีลให้บริบูรณ์ ท่านได้รับ อานิสงฆ์ ๓ ประการ คือ 
 ๑. เป็นผู้มีอายุยืน
๒. เป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก
๓. เป็นผู้มีปัญญาคมกล้า
+++++


รักษาศีลข้อ ๒ แล้วทำให้มีทรัพย์ (ในปัจจุบันชีวิต)


อทินฺนาทานา เวรมณี สิกขา ปทังสมาทิยามิ
คือ เจตนาเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน


อานิสงฆ์ของการรักษาศีลข้อนี้ ทำให้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือเทวดา เรียกว่า กามสุคติภูมิ*** 
เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วจะได้อานิสงฆ์
  • จะเป็นผู้ มีทรัพย์มาก
  • มีข้าวของ และอาหารมาก
  • หาโภคทรัพย์ได้ไม่สิ้นสุด
  • โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
  • หาสิ่งที่ปรารถนาได้รวดเร็ว
  • สมบัติไม่กระจายด้วยภัยต่าง ๆ
  • หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่งแยก
  • ได้โลกุตตรทรัพย์คือนิพพาน
  • อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข
  • ไม่รู้ไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี
ผู้เขียนเห็นตัวอย่างที่ดี ความซี่อตรงของคนสวิส์ฯ คนหนึ่ง (ที่ไม่ทำผิดศีลข้อ ๒ แม้มีโอกาส) ที่น่านำมาเป็นข้อคิด และเป็นตัวอย่างนำไปปฎิบัติ 


พนักงานไปรษณีย์ คนหนึ่งมีหน้าที่นำเงินจากกล่องชำระใบเสร็จของลูกค้า เข้าบัญชีชำระให้ลูกค้า เงินที่ลูกค้าใส่ไปในกล่องเกินไป 100 สวิสฟรังก์ (ซึ่งลูกค้าไม่รู้) แต่พนักงานก็ใส่เงินที่เกินกลับคืนไปในกล่องให้แถมโทรบอกกับลูกค้าว่าเงินที่ใส่มาเกิน   นี่เรียกได้ว่าโอกาสเปิดให้ทำผิดศีล แต่พนักงานก็ซื่อตรงไม่ทำผิดศีลข้อ ๒


หากใครมีโอกาสไปสวิสฯ จะเห็นร้านค้าชาวนา เอาผัก ผลไม้ สิ่งของ มาวางขายไว้หน้าสวน หรือ หน้าบ้าน โดยที่ไม่ต้องมีคนคอยเฝ้า มีเพียงราคาของติดไว้ และกล่องสำหรับให้ลูกค้าหยอดเงินใส่เอง
นี่แสดงให้เห็นความไว้วางใจ ในความซื่่่อตรง ของชาวสวิสฯ (อ่านแล้ว อย่าเข้าใจว่าที่สวิสฯ ไว้ใจได้ทั้งประเทศ  เพราะ หากวางของไว้โดยไม่มีคนเฝ้าก็อาจหายได้ เช่นกัน โดยเฉพาะในสนามบิน หรือในเมืองหน้าร้าน ก็ยังมีขโมยให้เห็น ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ก็ยังมีความกลับกลอกของใจอยู่ ต้องถือสุภาษิตว่า อย่าไว้ใจทาง  อย่าวางใจคน  เดี๋ยวจะจนใจเอง)


หากใครที่ยังสงสัยว่า รักษาศีลข้อ ๒ แล้วจะทำให้มีทรัพย์มากจริงหรือ อย่างนี้ ก็ต้องลงมือพิสูจน์เพื่อให้เห็นจริง   เริ่มแต่เดี๋ยวนี้เลย วันนี้เลยว่า จะตั้งจิตรักษาศีลข้อ ๒... แล้วได้ผลเป็นอย่างไร อย่าลืมเขียนมาเล่าเป็นทานบ้างแล้วกัน ...อนุโมทนา




*** กามสุคติภูมิ ได้แก่ มนุษย์ ๑ เทวดา ๖ หมายถึง ภูมิที่มีความเป็นอยู่ด้วยความสนุกเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณอารมณ์ ล้วนแต่สวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทวภูมิ ซึ่งเป็นดินแดนที่ไปเสวยผลบุญ ที่ตนเองได้กระทำไว้ ทุกอย่างจะเป็นทิพย์ เพียงแต่ตั้งความปรารถนาต้องการสิ่งใด สิ่งนั้น ๆ ก็จะบังเกิดขึ้นมาทันทีด้วยอำนาจของบุญ อย่างไรก็ดีถ้าจะพิจารณาโดยหลักธรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาทั้งสิ้น เป็นการติดอยู่ในรูปที่สวย ๆ เสียงที่ไพเราะ รสที่อร่อย ๆ หรือสัมผัสที่อ่อนนุ่ม ความยินดีในสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า กามตัณหา ซึ่งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนกระวนกระวายใจ หาความสุขความสงบอย่างแท้จริงไม่

No comments:

Post a Comment