Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Dec 24, 2010

A Beautiful Mind...taste what's in the heart















"เมื่อใจงามคุณจะรู้สึกถึงความงามแม้ในสิ่งเลวร้าย  แต่หากใจร้ายคุณจะเห็นแค่แง่ร้ายแม้ในสิ่งดีงาม"
คำคมจากดังตฤณ


ด้วยคำคมนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องราวของใครบางคน ที่เลือนลาง แต่...ยังประทับอยู่ในความทรงจำ (ลึก ๆ) ที่เป็นทั้งครู,แรงบันดาลใจ และแรงศรัทธา...เชื่อในพระธรรมของพระพุทธเจ้า...มากยิ่งขึ้น ในที่สุดความระลึกได้ก็กลับมาอย่างบังเอิญ..อีกครั้ง 
ขอบคุณคำคมดีๆ ของดังตฤณ

เครดิต: การเดินทางของใจที่เที่ยงแท้: จำรัส  เศวตาภรณ์
www.4share.com


   
Last night’s sleepless mind explained this well,
But what sounds ease the heart petals freeze?
Leave treatises and poems, leave ink and brush,
Leave fall’s last flowers. Leave the S.Q.’s walls
What I knew of gardens, or old texts
Lies dead with my ambitions my last past.
Ride out past quick-sprung poplars, white barked pines
Past farmer’s shacks-and past more sallow blooms
Yet no road quits self pity, outruns sorrow.
Better to stay and taste what’s in the heart. _____    
  Jay.
      จิตที่หลับไม่ลง  เมื่อค่ำวาน  ได้อธิบายอย่างดี
      แต่เสียงใดเล่าจะปลอบ   ในยามเกสรหนาวกรอบเป็นน้ำแข็ง?
      ลาจากร้อยแก้วและร้อยกรอง   ละจากน้ำหมึกและพู่กัน
      พรากจากกลีบเกสรบั้นปลายฤดู   พ้นจากกำแพงแห่ง S.Q.
      เรื่องราวที่เคยรู้   เรื่องสวนหรือหนังสือโบราณ
      ตายขานกับความทะเยอทะยาน   อดีตได้หลงล่วงไป
      ล่องผ่านต้นป๊อปปล้างอกไว   ต้นไพน์เปลือกขาว
      ผ่านกระท่อมชาวนา   ซ้ำผ่านกลีบเกสรจืดจาง
      แต่แล้วไม่มีหนทางใด  ดับความเวทนาแห่งตน  ผ่านพ้นความโศกศัลย์
      อยู่ตรงนี้แหละดีกว่า   ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ
เจ.
     (แปลจากกลอนภาษาอังกฤษของเจ  โดย  ศิริธร รัตนิน)    

*S.Q. คือชื่อเรือนจำ ซาน เควนติน (San Quentin Prison)


ความรัก ความเมตตา การให้อภัย เปรียบได้กับปุ๋ยชั้นเยี่ยม อาหารใจชั้นยอดของดอกไม้ธรรมที่เจริญงอกงามขึ้นกลางใจของผู้ปลูก ให้ผู้ปลูกได้ลิ้มรสความหอมหวานของดอกไม้แห่งธรรม..ดอกไม้แห่งพุทธะ ที่กำลังเบ่งบานนั้น และพร้อมที่จะแบ่งปันดอกไม้นี้ให้กับคนรอบข้างได้ชื่นชม ได้ลิ้มรสความหอมแห่งธรรม...ดังเช่น

เรื่องราวของ จาตุรันต์ ศิริพงษ์ (เจ) คนไทยที่ประสบวิกฤติชีวิตในต่างแดน  แต่เจกลับเปลี่ยนวิกฤตนั้นให้เป็นโอกาสอันเลิศ พัฒนาอบรมจิต หมั่นเพียรปฏิบัติศึกษาธรรม ปลูกดอกไม้แห่งธรรมขึ้นในใจของเจ  ใจของเจที่เป็นอิสระ จิตของเจที่ปล่อยวาง ไม่มีอะไรที่จะทำให้ เจ หวาดหวั่นอีกต่อไป แม้แต่เมื่อวินาทีสุดท้ายแห่งลมหายใจ...มาถึง  

เจเคยพูดเล่น ๆ ว่า อยากให้เอาอังคารของเขาไปโปรยในทะเลให้ปลากิน เมื่อคนมากินปลาอีกต่อหนึ่ง เขาก็จะได้กลับมาเกิดในภูมิมนุษย์อีก เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมต่อไป เขารู้ว่ามนุษย์เท่านั้นที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้โดยไม่มีขีดจำกัด รู้จักแยกแยะ สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว และ ผิด-ถูก พัฒนาการและการเรียนรู้ของแต่ละคน เป็นผลสืบเนื่องจากวิถีกรรมที่คนเลือกเอง...

เรื่องราวของเจ ผู้เขียนได้อ่านโดยบังเอิญผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อสองปีก่อน เรื่องราวของเจ แม้ใครได้อ่านคงต้องรู้สึกประทับใจ และเกิดปิติทุกครั้ง เหมือนผู้เขียน  ความอดทน ความรัก ความเมตตา การให้อภัย ความเพียรปฎิบัติ และศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างและเป็นนามธรรมที่จับต้องได้...ว่า อานุภาพแห่งธรรมของของพระพุทธเจ้า หากใครเพียรปฎิบัติ ย่อมสามารถดับร้อน ถอนทุกข์ ในใจได้ และเป็นอกาลิโกเสมอ  เคยตั้้งใจไว้ว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้สักครั้ง   แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เรื่องราวหลากหลายผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันก็ทำให้หลงลืมไปบ้าง จวบจนผู้เขียนได้บังเอิญไปอ่านเจอใน  http://mblog.manager.co.th/athenaz/Redwood-Valley/ , http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-pasanno/lp-pasanno-02.htmhttp://www.oknation.net/blog/tocare/2010/11/23/entry-1 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (ขอบคุณเจ้าของ blog ที่เตือนความทรงจำผู้เขียน และนำสิ่งดี ๆ มาให้อ่านกัน) ครั้งนี้บอกกับตัวเองว่า...เขียนเลย แม้ผู้เขียนจะพบว่า มีถึง 111,000 pages ที่ search เห็นโดย google ณ ขณะนี้ก็ตาม

++++ 


หนังสือ ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ  ตีพิมพ์จากการถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ พระอาจารย์ ปสสฺโน  (ศิษย์หลวงปู่ชา) เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี (สาขาวัดหนองป่าพง) Fareless Mountain, California  โดย Kathrzn Guta และ Dennis Crean และจากการบรรยายธรรมในเรื่อง เล่าเรื่องเจ ที่วัดป่านานาชาติ

ประวัติ อาจารย์ ปสสฺโน (ภาษาอังกฤษ): http://www.abhayagiri.org/main/community/
นามเดิม             รีด แพรี่
เกิด ๒๖ กรกฎาม ๒๔๙๒ ประเทศแคนาดา
พรรษา ๒๘ พรรษา
การศึกษา ปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์
อุปสมบทที่วัดเพลงวิปัสสนา กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ปฎิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เจ้าอาาสวัดป่าอภัยคีรี อเมริกา

ที่อยู่ปัจจุบัน วัดป่าอภัยคีรี สาขาวัดหนองป่าพง เรดวู้ด วาเลย์ นครซานฟานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา โทร. ๗๐-๗-๔๘๕๑๖๓๐
************


คำอนุโมทนา พระอาจารย์ ปสสฺโน  ในหนังสือ ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ

คำอนุโมทนา

ในการเกิดมาและมีชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเราหมู่มนุษย์ จะมีความหวั่นไหว หวาดกลัวต่อความตาย หาได้ยากนักที่ใครสักคนจะเดินเข้าไปสู่ความตายด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น  เหตุการณ์ในชีวิตของบุรุษผู้หนึ่ง ได้เปลี่ยนหายนะให้เป็นโอกาสเข้าสู่ทางที่มั่นคง จนเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นๆได้ หนังสือเล่มนี้เกิดจากความสนใจของหลายๆคน ที่ได้ยินอาตมาเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับคนไทยชื่อ จาตุรันต์ ศิริพงษ์ (เจ) ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในเรือนจำ ซาน เควนติน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึงแม้ว่าเขาต้องใช้เวลา ๑๖ ปีสุดท้ายของชีวิตอยู่ในเรือนจำก็จริง แต่เขาก็สามารถพลิกตัวเองให้เป็นคนที่มีที่พึ่งที่แท้จริงได้ ขออนุโมทนากับทุกๆคน ที่มีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์เล่มนี้ ขอให้ธรรมะจงนำพาแสงสว่าง ให้เกิดมีขึ้นในดวงตาแห่งปัญญาของทุกท่านทุกคน 

ปสนฺโน ภิกขุ


********

บางส่วน จากบทสัมภาษณ์ พระอาจารย์ปัสสโน...
โดย Kathryn  Guta และ Dennis  Crean เมื่อเดือนพฤศภาคม 2542 

ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ได้ช่วยเป็นที่พึ่งทางใจแก่นักโทษประหาร

ตอนแรกอาตมาก็รู้สึกยินดี แต่พอมาคิดได้ว่า เอ... นี่เรากำลังจะเข้าไปแดนนรกนะ...
กว่าจะผ่านเข้าไปถึง ต้องผ่านประตูเหล็กหลายต่อหลายชั้น ผ่านเครื่องตรวจหาอาวุธสองครั้ง แล้วก็ยังมีผู้คุมมาตรวจอีกหลายคณะ ตรวจแล้วก็ประทับตราที่มือของอาตมา แล้วก็ต้องไปผ่านประตูเหล็กและผู้คุมอีก หลายชั้นหลายขั้นตอนทีเดียว...

เมื่ออาตมาเห็นเจ เขาไม่เหมือนคนใกล้ตายคนอื่น ๆ ที่อาตมาเคยพบ เจยังหนุ่ม แข็งแรง และดูมีสุขภาพจิตดี เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม ประณีต ไม่น่าสงสัยเลยว่า เขาได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีคุณค่า แม้จะถูกล่ามโซ่ที่เอว เจก็ยังดูภาคภูมิเป็นตัวของตัวเอง มารยาทงาม และต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ทุกอย่างดูเป็นปกติ ไม่มีอะไรส่อเค้าเลยว่า เที่ยงคืนของวันมะรืนผู้ชายคนนี้จะถูกประหาร เขาจะต้องตาย...



บรรยากาศในวันนั้นเครียดไหมครับ

ไม่นะ ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า ค่อนข้างผ่อนคลายทีเดียว บางครั้งเราก็ถกกันเรื่องที่สุขุมลุ่มลึกเกี่ยวกับธรรมชาติของจิต แต่บางทีเราก็มีเรื่องเบา ๆ ให้ได้หัวเราะกันบ้าง เจทำหน้าที่เจ้าของบ้านได้อย่างวิเศษ...

ช่วงสุดท้ายที่ท่านอาจารย์ได้อยู่กับเจ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้างครับ

           ในวันแรก หลังจากบ่ายสองโมงแล้ว อาตมามีโอกาสได้พบโยมผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นชาวคริสต์ซึ่งเคยเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ประหารมาแล้ว ๖ - ๗ ครั้ง ในฐานะผู้นำทางศาสนา ได้คุยกันอยู่นาน เขาเล่าให้ฟังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากหกโมงไปแล้วจนถึงเวลาประหาร เมื่อเรารู้ตัวล่วงหน้าจะได้ไม่ตกใจ ไม่เสียสมาธิ เขาบอกว่าจะมีพวกเจ้าหน้าที่หกคนควบคุมเราตลอดเวลา พวกนี้เป็นทีมเพชฌฆาต ซึ่งสมัครใจมาทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง คงตื่นเต้นและมีความสุขในการประหาร เขาบอกว่า พวกนี้อาจจะรังแกเราด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจเบียดเบียนทั้งกายและวาจา พูดจาหยาบคาย...

ในวันที่กำหนดจะประหารเจครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนั้น เจได้รับอนุญาตให้ถือลูกประคำเข้าในห้องประหารได้ แต่ก่อนที่จะส่งถึงมือเจ ผู้คุมก็โยนลงบนพื้น แล้วก็เหยียบเสียทีหนึ่ง เมื่ออาตมาได้ข้อมูลมาอย่างนี้ ก็มาคิดวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี หากเจอเหตุการณ์อย่างที่เขาเล่า...

อาตมาได้ตกลงกับเจไว้แล้วว่า พอถึงเวลาที่สมควร ก็ให้เจขอพระไตรสรณาคมน์ ขอรับศีลเป็นภาษาบาลีเป็นเบื้องต้น ก็เป็นช่องที่จะได้อบรมเขาว่า สรณะที่พึ่งคืออะไร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร ศีลคืออะไร แล้วก็เทศน์สั้น ๆ กัณฑ์หนึ่ง อบรมให้ความรู้เจ ไม่ใช่เพื่อเจคนเดียว แต่เพื่อผู้คุมด้วย เมื่อเจขอไตรสรณาคมน์ ขอศีลเสร็จแล้ว ก็ให้อาราธนาพระปริตร แต่เจหลง เขาขึ้น ..พรหม จะ โลกา คืออาราธนาเทศน์ เราเลยได้โอกาสแสดงธรรมต่อ เพื่อเป็นการดึงจิตใจเจ้าหน้าที่ไปในตัว แล้วเจก็อาราธนาพระปริต สวดมงคลชัยคาถา บางบทที่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราก็สวดเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเราสวดอะไร...

ตลอดคืนเขาก็อยู่ แต่ไม่ได้รังแกหรือรบกวนอะไรเลย ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งทำเสียงดัง ก็มีเจ้าหน้าที่ตักเตือนกันเอง เวลาสั่งงาน เขาก็เขียนใส่กระดาษ ส่งกันต่อ ๆ เพื่อจะได้ไม่มีเสียงรบกวนเรา คืนนั้นอาตมากับเจ ก็เลยมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันเต็มที่ เราก็นั่งสมาธิ สนทนาธรรม และสวดมนต์ โดยเฉพาะการแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล...
ตลอดเวลา นับตั้งแต่อาตมาได้พบเจ จนกระทั่งถึงวันประหารเป็นเวลาสามวันนี้ อาตมาก็ได้ตอบข้อสงสัย ข้อข้องใจของเจ โดยเฉพาะเรื่องอนัตตา เรื่องขันธ์ ๕ และการปล่อยวาง ว่าจะทำอย่างไร การสังเกตในตัวเองว่าละได้จริง ๆ อย่างไร

ในคืนนั้นท่านอาจารย์เทศน์เรื่องอะไรครับ

อาตมาเล่าประวัติพระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ ไม่ทรงปรารถนาจะโปรดสัตว์ เพราะทรงเห็นว่าธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนจะเข้าใจปฏิบัติตามได้ จากนั้นก็พูดถึงโมหะกิเลส ซึ่งเป็นธรรมดาของสัตว์โลก และธรรมะเพื่อการหลุดพ้น แล้วก็พูดถึงอริยสัจ ๔ และอธิบายความหมายของการปล่อยวาง ซึ่งไม่ใช่การปล่อยทิ้ง...

เราได้พูดถึงการปล่อยวางในความหมายที่เชื่อมโยงถึงการ การให้อภัยและ อนัตตาถ้าเราไม่ให้อภัย คือเรายังยึดทุกข์ไว้ เราก็จะสร้างตัวตนขึ้นบนความทุกข์เรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด...


อาตมาได้ถามเจว่า ยังมีใครอีกบ้างไหมที่เจยังไม่ได้ให้อภัย

เจนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ตอบค่อย ๆ ว่า ผมยังไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้หมดใจครับ

คำตอบของเจกินใจอาตมา จนทำให้เกิดความรู้สึกตื้นตัน เจยังฝังใจจำที่ตัวเองได้พลาดพลั้งไปในอดีต...

อาตมาจึงได้ชี้แจงให้เห็นธรรมชาติของการเกิดดับ เจจะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันได้ดับไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นคนละคนกับคนในอดีต เจจะต้องปล่อยวางเหตุการณ์ในอดีต รวมทั้งคนที่เคยประกอบกรรมในอดีตนั้นเสียด้วย


เจมีอาการอย่างไรบ้างครับ เมื่อวันใกล้การประหาร

          ตอนหนึ่งเขาถามอาตมาว่า ถ้าผมไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต แล้วอะไรล่ะครับที่จะหลุดพ้น” 
อาตมาตอบว่า นี่ก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นเพียงคำถามที่เกิดจากความสงสัยเท่านั้นเอง เมื่อได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียกว่าอะไร

และอีกครั้งหนึ่ง เจบอกอาตมาว่า ตอนนี้ผมมีคนสองคนอยู่ในใจผม คือท่านอาจารย์กับตัวผมเอง
อาตมาตอบว่า เจต้องปล่อยวางอาตมาเสีย เพราะอาตมาจะไม่เข้าไปข้างในกับเจ และก็ต้องปล่อยวางตัวเองด้วย
.
.
 “พวกเขาจะมัดเจติดกับเตียงอาตมาเตือนและคงทำอะไรวุ่นวายหลายอย่างรอบตัวเจ เพราะฉะนั้น เจต้องกำหนดจิตจดจ่ออยู่ภายในเท่านั้น อย่าส่งจิตออกข้างนอก

เกือบหกทุ่ม เขาก็มาบอกว่าจะพาเจไปแล้ว พอเขาเรียก เจก็ลุกเดินออกไป ...เฉย ไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจกลัว...
ตอนเดินผ่านห้องของอาตมา ก็ยกมือไหว้บอกว่า ผมลาครับแล้วก็เข้าไปในห้องประหาร
.
.
ท้ายที่สุดเราได้จัดเวลาประกอบพิธีสวดมนต์ อุทิศส่วนกุศล และแผ่เมตตาแก่ทุก ๆ คน รวมทั้งผู้คุม หลังจากรู้แน่ชัดว่าการอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายคงไม่ได้ผล เจก็ขอร้องอาตมาให้แผ่เมตตาแก่คณะทนายความที่ร่วมในการทำคดีของเขาด้วย แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต เจก็ยังอุตส่าห์มีน้ำใจเผื่อแผ่ถึงผู้อื่น

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็มาพาอาตมาออกไปนอกเรือนจำ ซึ่งต้องออกทางด้านหลัง เพราะด้านหน้ามีการประท้วง คนมาร่วมด้วย ๓๐๐ ๔๐๐ คน ฝนตกหนักที่สุด ลมก็แรง เหมือนกับเทวดาไม่พอใจเลย หลายคนก็ไม่พอใจการประหาร เพราะได้ข่าวว่านักโทษเจสามารถปรับตัวได้ เป็นคนสงบ มีหลักการในการดำเนินชีวิตน่านับถือ คนเลยออกมาประท้วง ซึ่งที่จริงทุกครั้งที่จะมีการประหาร ก็มีคนออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าป่าเถื่อน ไม่สมควรกับประเทศที่เจริญ แต่ครั้งนี้มีคนออกมาประท้วงมากกว่าครั้งก่อน ๆ และอากาศก็แย่กว่าทุกครั้ง ตอนเช้าดูหนังสือพิมพ์ เขารายงานข่าวว่า เจนอนนิ่งหลับตา รอรับการประหารอย่างสงบ อาตมาก็รู้สึกภูมิใจ เพราะเชื่อว่าเจกำลังกำหนดจิต

มีพิธีศพไหมคะ

มีพิธีเผาศพอย่างเงียบ ๆ ในวันรุ่งขึ้น
     ศพของเจเปรียบได้กับครูกรรมฐาน ซึ่งให้พลังบันดาลใจอย่างมาก ใบหน้าของเขาดูสงบผ่องใส และคล้ายมีรอยยิ้มจาง ๆ น่าเชื่อว่าเจได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ หลังจากประมวลเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูแล้ว อาตมามั่นใจว่า เจไปดี

ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างครับ หลังการประหาร
     อาตมารู้สึกเป็นบุญที่ได้อยู่กับเจ มันเป็นประสบการณ์ที่ช่วยลดอัตตาของเราลงได้มากทีเดียว อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นพวกเราเจอสภาพอย่างเดียวกันนี้บ้าง เราจะเป็นอย่างไร กับการที่จะได้สัมผัสความตายที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ โดยที่รู้เวลาแน่นอนด้วย ไม่ใช่แค่ว่าจะตายในวันใดวันหนึ่งในอนาคต แต่รู่แน่ว่า ๒๔.๐๑ นาฬิกาของวันนั้น เราจะต้องตาย (๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒) ก่อนหน้านี้เจไม่ได้กังวลหรือหวังผลจากกระบวนการยุติธรรม เขาไม่ได้ตั้งความหวังว่าการอุทธรณ์จะได้ผล และเมื่อผลปรากฏออกมาว่าไม่สำเร็จจริง ๆ เขาก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร เจบอกอาตมาว่าผมยอมรับความจริงว่าผมจะต้องถูกประหาร
.
.
.

หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว อาตมากลับมาศึกษาคดี ศึกษากรณีต่าง ๆ แล้ว ก็รู้สึกว่า เจไม่ได้เป็นคนผิด แต่ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก เขาไม่บอกว่าที่จริงคนฆ่าคือใคร นอกจากยอมรับเคราะห์แทน เมื่อเจขึ้นศาลตอนแรกนั้น เงินทุนที่จะต่อสู้คดีก็ไม่มี ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดี ทนายที่ศาลแต่งตั้งให้เจก็กำลังหาเสียงเลือกตั้ง เลยไม่สนใจคดี ไม่หาพยานให้เจด้วย ศาลก็ตัดสินอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นคนไทย เมื่อถูกจับเข้าคุก ตามกฎหมายระหว่างประเทศ สถานทูตไทยควรมีส่วนช่วยเหลือ แต่เขาก็ไม่ได้แจ้งเรื่องให้สถานทูตทราบเลย จนกระทั่งหลังตัดสินประหารไปแล้ว ถึงแม้มีการอุทธรณ์ แต่ตามกฎหมาย ศาลก็จะพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มีในตอนตัดสินครั้งแรกเท่านั้น จะเอาข้อมูลใหม่เข้าไปไม่ได้ เจก็เลยเสร็จ ไม่มีประตูสู้ ฟังแล้วบางทีก็หดหู่นะ สลดใจ แต่เจเองเขาก็พูดอยู่เสมอว่า ไม่สมควรหดหู่ ไม่สมควรเศร้าใจ เราต้องเชื่อในหลักกรรม ถ้าไม่เป็นกรรมในชาตินี้ ก็ต้องเป็นกรรมในชาติก่อนตามมา ทางที่ดีคือยอมรับด้วยจิตใจผ่องใส ถ้าเราไปมีทุกข์ ทำใจไม่ดี เราก็ต้องเกิดมาพัวพันกับกรรมเก่านี้อีก ตอนนี้มีโอกาสที่จะทำให้มันหมดสิ้นไป เขาพูดได้อย่างนี้นะ ...



บทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ อาจารย์ ปสสโน
Preapring for Deat: The Final Days of Death Row Inmate
Jaturun “Jay” Siripongs

งานศิลปของ เจ

วัดป่าอภัยคีรี



หากใครสนใจจะจัดพิมพ์ ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจแจกเป็นธรรมทาน โปรดติดต่อได้ที่ ท่านเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ  บ้านบุ่งหวายอำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี 34310  หรือติดต่อ กองทุนพลังชีวิต อาคมธรรมทาน


หากข้อความใดผิดพลาด ละเมิด หรือล่วงเกินท่านใด ทั้งที่ตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ผู้เขียนกราบขอขมา มา ณที่นี้

No comments:

Post a Comment