Dhamma for Life

"เราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงนะ เราต้องศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ศึกษาอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ด้วยจนเห็นผล พอเห็นผลแล้ว เราก็มีหน้าที่บอกต่อ เนี่ยหน้าที่ของชาวพุทธนะ ตัวเองต้องศึกษา ต้องฟังก่อน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร เรียกว่าเรียนปริยัตินั้นเอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติว่าได้ผลแล้วก็ต้องบอกต่อ ศาสนาถึงจะดำรงอยู่ได้ แต่ละคนมีภารกิจ อย่านึกว่าแค่ว่าเราจะมาฟังธรรมะเล่นๆ แต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น"


"หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสาย ลงมือเสียแต่วันนี้ ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป เพราะถึงเวลานั้น พวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทาง ไปอีกนานแสนนาน"

...หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช...สวนสันติธรรม...

Jun 27, 2010

วิสาขบูชา-ชาวพุทธ-โชคดี...๑


ภาพ:   พระพุทธปรินิพพาน
ศิลปิน:  กฤษณะ  สุริยกานต์  Krishana  Suriyakarn
Websie: http://thebuddhart.com

เดือนนี้ดูเหมือนจะเป็นเดือนแห่งการบอกบุญ ส่งบุญ  เพื่อนผองน้องพี่ทางไกลจากหลายทิศต่างส่ง forwarding mail มาให้ บ้างก็ส่งภาพวาดวิจิตรศิลป์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าคือวันวิสาขบูชา บ้างก็ส่งภาพพระพุทธรูปหลากหลายที่มาให้เพื่อเป็นพุทธบูชาบ้าง และบ้างก็บอกให้ส่งต่อแล้วจะมีโชคดี  สุดแท้ตามคติความเชื่อและจริตของแต่ละคน

หนึ่งใน forwarding mail คือภาพตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็นภาพวาดที่สวยงามแฝงคติธรรมเป็นอย่างดี ขออนุญาติมาแปะแบ่งกันชม  <<ค้นหาชื่อศิลปินเจ้าของภาพจากอินเทอร์เน็ตอยู่นานไม่เจอ  หากใครผ่านมาและพอจะรู้จักชื่อท่าน จะกรุณาบอกชื่อเข้ามาเพื่อเป็นเครดิตให้กับเจ้าของภาพวาดก็จะเป็นบุญ และขอขอบคุณล่วงหน้า>> ในที่สุดผู้เขียนก็พบชื่อศิลปินเจ้าของภาพวิจิตรนี้โดยบังเอิญ นามว่า กฤษณะ สุริยกานต์ Krishana  Suriyakarn   ยังมีภาพสวยงามอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวของพระพุทธองค์ ลองเข้าไปชม และอุดหนุนงานศิลปอันลำค่านี้ได้ที่ gallery ของศิลปินท่านนี้ได้ที่ The Budhart  http://thebuddhart.com/



และไม่ลืมขอบคุณพร้อมอนุโมทนา เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่มีใจคิดถึง พร้อมคนต้นเมล์ ที่ส่งภาพดี ๆ เหล่านั้นมาให้   แม้อยู่เสียไกลคนละซีกโลกก็ยังมีใจคิดถึง

พูดถึงวันวิสาขบูชา  หลายคนอาจจะลืมเลือนไปบ้างว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเราชาวพุทธ  อาจจะด้วยอายุเข้าวัยทอง  หรืออาจจะอยู่ห่างวัดวาเวลาไปก็ลำบาก โดยเฉพาะคนอยู่ต่างแดน หรืออีกหลายเหตุผลก็สุดแต่...  มาทบทวนความจำกันสักนิดดีไหม ว่าวันวิสาขบูชามีความสำคัญอย่างไร

"วันวิสาขบูชา" ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖  ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" หมายถึง "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" หากปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗

วันวิสาขบูชาเป็นสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ  ตรัสรู้ และปรินิพพาน   

ที่ประชุมมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ ๕๔ ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวัน สำคัญสากลนานาชาติ หรือวันสันติภาพโลก (International recognition of the day of Vasak)  เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๑๕๔๒

วันวิสาขบูชา ปรากฎหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน


ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป 

กิจกรรมและธรรมปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
๑.  ทำบุญใส่บาตร
๒.  ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
๓.  ไปวัดปฏิบัติธรรม ฟังธรรม และเวียนเทียน


ก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน  พระอานนท์ได้ทูลถามว่า  เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้วภิกษุทั้งหลายต่างก็จาริกมุ่งหน้ามาเฝ้าพระศาสดาหลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วภิกษุเหล่านั้นควรจะไปที่ใด   พระศาสดาตรัสตอบว่า "ควรไปยังสถานที่ ๔ แห่งคือ พระองค์สถานที่ประสูติ ประสูติ  สถานที่ตรัสรู้  สถานที่ทรงแสดงธรรมจักร  และสถานที่ปรินิพพาน  เมื่อจาริกไปยังสถานที่เหล่านี้  มีจิตเลื่อมใส สิ้นชีพลงก็จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์" 

"ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า  ขอท่านทั้งหลายจงมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"  นี่คือพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน
ที่มา:  พระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว, อาจารย์วศิน  อินทสร

สองเดือนที่แล้ว บุญนำธรรมส่งให้ได้ไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานทั้งสี่ จึงขอเอารูปมาแบ่งปันให้ชมเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

๑.   Maya Devi Temple สถานที่ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ (มีรอยพระบาทเจ้าชายสิทธัตถะแรกเกิดประทับอยู่) ตั้งอยู่ในลุมพินี ประเทศเนปาล อดีตคือพระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
๒.   ต้นศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ปัจจุบันมีอายุเก่าแก่ เกือบ ๓๐๐๐ ปี  อยู่ในพุทธคยา รัฐพิหาร
๓.  พระมหาเจดีย์โพธิ์คยา อยู่ด้านหน้าต้นศรีใหาโพธิ์
๔. ธีมเมกขสถูป  สารนาถ (อดีตคือ อิสิปตนมฤคทายวัน) เมืองพาราณสี  สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เบญจวัคคีย์ เรียกว่า "พระธัมมจักรกัปวัตตนสูตร" ณ วันเพ็ญ เดือน ๘  สถานที่นี้มีความสำคัญมากคือ
           ๑  พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปวัตตสูตร
           ๒ ได้ปฐมสาวก  คือพระสาวกองค์แรกได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ  ได้ดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา
           ๓  เป็นวันที่เกิด พระรัตนตรัยครบ ๓ คือ  มีพระพุทธเจ้า  แสดงธรรม เกิดสาวกองค์แรก พระอัญญาโกณฑัญญะ  เรียกว่าเป็นวันที่เกิด สังฆรัตนะ ขึ้นในโลก
๕.  พระพุทธรูปปางมหาปรินิพพาน ในมหาปรินิพพานวิหาร  สาลวโนทยาน
๖.  มหาปรินิพพานวิหาร ในบริเวณสาลวโนทยาน  สถานที่ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า  แม้ว่าเราจะทันได้เกิดมาพบพระองค์หรือไม่ก็ตาม  ขอเพียงแต่เราเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้แนะทาง และได้ทรงตรัสสอนไว้  ทางนั้นจะทำให้เราได้พบพระะพุทธองค์อย่างไม่ต้องสงสัย ดั่งที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต"


ธรรมสวัสดี...

No comments:

Post a Comment